พระเจ้าบุเรงนอง

พระเจ้าบุเรงนอง (อังกฤษ: Bayinnaung) พระมหากษัตริย์พม่าพระองค์ที่ 3 ในราชวงศ์ตองอู อาจเรียกได้ว่า เป็นราชาพม่าองค์ที่คนไทยหรือชาวต่างชาติ รู้จักดีที่สุดก็ว่าได้ เนื่องด้วยเกียรติประวัติอันเลื่องลือ จนมีฉายาว่า “พระเจ้าชนะสิบทิศ” อีกทั้งยังมีวรรณคดีประเภท นิยายปลอมพงศาวดารชื่อดังที่มีพระองค์เป็นตัวเอกของเรื่อง คือ “ผู้ชนะสิบทิศ” ด้วย ซึ่งได้มีการนำไปสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์ในภายหลังหลายต่อหลายครั้ง

พระราชประวัติ

พระเจ้าบุเรงนอง ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2059 ก่อนพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เพียง 1 เดือน ตามความเชื่อของคนทั่วไป เชื่อว่าพระนามดั้งเดิมของพระองค์คือ “จะเด็ด” (ตามนิยายผู้ชนะสิบทิศ) แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระนามดั้งเดิมของพระองค์อาจออกเสียงว่า “จะเต็ด” โดยอาจแปลได้ว่า “เจ้าปลวกไต่” (จะ หมายถึง ปลวก เต็ด หมายถึง ไต่ หรือ ป่ายปีน) และมีอีกหนึ่งหลักฐานที่ระบุว่า พระนามดั้งเดิมคือ “เชงเยทุต” โดยแปลได้ว่า “เจ้ายอดผู้กล้า” (เชง เป็นคำที่เรียกหน้าชื่อบุคคลสำคัญ เย หมายความว่า กล้าหาญ และ ทุต อาจแปลได้หลากหลาย แต่ในบริบทเช่นนี้ควรแปลว่า ยอด)

พระเจ้าบุเรงนอง ในนิยายผู้ชนะสิบทิศ กำเนิดเป็นบุตรของสามัญชนที่มีอาชีพปาดตาล แต่ข้อเท็จจริงแล้ว พระองค์เองมีเชื้อกษัตริย์ในตัว โดยเป็นบุตรชายของ เมงเยสีหตู ขุนนางระดับสูงผู้หนึ่งของพระเจ้าเมงจีโย พระราชบิดาของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ เมงเยสีหตูผู้นี้ เชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสถาปนาอาณาจักรตองอูร่วมกับพระเจ้าเมงจีโย และได้รับการอวยยศเป็นถึง เจ้าเมืองตองอู เมืองหลวงอีกด้วย

ในวัยเยาว์ พระเจ้าบุเรงนองเติบโตมาพร้อมกับพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แม้มิได้เป็นพระญาติกันโดยสายเลือด แต่ทั้ง 2 ก็มีความผูกพันกันเหมือนพระญาติ เนื่องจาก เมงเยสีหตู บิดาของพระเจ้าบุเรงนองก็เป็นบุคคลที่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เคารพ โดยมีฐานะเป็นถึง พระอาจารย์ ที่ปรึกษา ขุนนางคนสำคัญ และมีสถานะอีกด้านเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ด้วย โดยบุตรสาวของเมงเยสีหตู ก็เป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระพี่นางของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นามว่าพระนางตะเกงจีก็เป็นมเหสีอีกองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ด้วยเช่นกัน

พระเจ้าบุเรงนองก่อนขึ้นครองราชย์ มีสถานะเป็นแม่ทัพคนสำคัญของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พระนามของพระเจ้าบุเรงนอง ออกเสียงตามสำเนียงพม่าว่า “บาเยงนอง” มีความหมายว่า “พระเชษฐาธิราช” และมีพระนามเต็มว่า “บาเยงนองจอเดงนรธา” (ไทยเรียกเพี้ยนเป็น “บุเรงนองกะยอดินนรธา”) แปลว่า “พระเชษฐาธิราชผู้ทรงกฤษดาภินิหาร” โดยพระนามนี้ เชื่อว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พระราชทานให้ หลังจากพระเจ้าบุเรงนองชนะศึกนองโย อันเป็นศึกไล่ตามทัพของพระเจ้าสการะวุตพี กษัตริย์มอญ ที่เสียกรุงหงสาวดีให้แก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ อันเป็นเกียรติประวัติที่เลืองลือครั้งแรก ๆ ของพระองค์

พระนามต่าง ๆ ก็มีอีกมาก เช่น “เซงพะยูนีมยาตะเกง ภะวะเชงเมงตะยาจีพะยา” แปลว่า “พระมหาธรรมราชาช้างเผือกแลช้างเนียม” หรือ “ตะละพะเนียเธอเจาะ” อันแปลว่า “พระเจ้าชนะสิบทิศ” เป็นฉายาที่พบในศิลาจารึกของชาวมอญ และชาวตะวันตกรู้จักพระองค์ในพระนาม “บราจินโนโค่” (Braginoco)

พระเจ้าบุเรงนอง นับว่าเป็นกษัตริย์พม่าที่ทางพม่านับว่า เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ 1 ใน 3 พระองค์ ด้วยความเป็นกษัตริย์นักรบอันเป็นที่ปรากฏพระเกียรติเลื่องลือ โดยยุคสมัยของพระองค์ อาณาจักรตองอูเข้มแข็งและแผ่ไพศาลอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่ลุ่มน้ำอิระวดีจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง มีประเทศราชต่าง ๆ มากมายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้แก่ หงสาวดีล้านช้างไทยใหญ่เขมรญวนอยุธยาเชียงใหม่ เป็นต้น

ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพม่าระบุว่า ก่อนพระองค์จะออกทำศึกคราวใด จะทรงนมัสการพระธาตุชเวมอดอ หรือที่ชาวไทยเรียกตามชาวมอญว่า พระธาตุมุเตา พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองหงสาวดีก่อนทุกครั้ง (จุดที่เชื่อว่าพระองค์ถวายการสักการะก็ปรากฏอยู่หน้าพระธาตุตราบจนปัจจุบัน)

ไม่เพียงแต่มิติของการเป็นนักรบเท่านั้น พระเจ้าบุเรงนองยังถือว่าเป็นกษัตริย์นักปกครองและบริหารที่เก่งกาจอีกด้วย ด้วยการสามารถปกครองและบริหารข้าทาสบริวารมากมาย ทั้งของพระองค์เองและของประเทศราช เช่น การยึดเอาพระราชวงศ์ที่สำคัญ ๆ ของประเทศราชต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในพระราชวังเพื่อเป็นองค์ ประกัน เป็นต้น

เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2094 ด้วยการปราบดาภิเษก เพราะมีกบฏเกิดขึ้นมากมาย ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้

พระราชวังของพระองค์ที่หงสาวดี มีชื่อว่า “กัมโพชธานี” (Kamboza Thadi Palace) นับว่าเป็นพระราชวังที่ใหญ่โตสมพระเกียรติ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2109 ปีที่ 15 ของการครองราชย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระองค์เรืองอำนาจสูงสุด พระองค์ตัดสินพระทัยเผาพระราชวังเก่าไปเนื่องจากมีการกบฏ พระราชวังกัมโพชธานีสร้างขึ้นโดยใช้แรงงานจากประเทศราชต่าง ๆ และพระองค์โปรดให้ใช้ชื่อประตูต่าง ๆ ตามชื่อของแรงงานประเทศราชที่สร้าง เช่น ประตูทางตอนเหนือปรากฏชื่อ ประตูโยเดีย (อยุธยา) ประตูตอนใต้ชื่อ ประตูเชียงใหม่ เป็นต้น

พระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2124 ด้วยอาการพระประชวร ขณะยกทัพไปตียะไข่ ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ของพระองค์มีต่าง ๆ มากมายหลายที่ในประเทศพม่า

ด้วยชีวประวัติอันพิศดาร และน่าสนใจ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์พม่าช่วงนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนชาวไทย ยาขอบ ได้หยิบยกขึ้นมาแต่งเป็นนิยายปลอมพงศาวดารชื่อดัง คือ ผู้ชนะสิบทิศ

พระบรมวงศานุวงศ์

พระอัครมเหสีและพระสนม

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ข้างพม่าระบุชัดว่า พระเจ้าบุเรงนองมีมเหสีถึงสามพระองค์ โดยในสามพระองค์นี้มีพระนางตะเคงจีเป็นมเหสีเอก ทรงเป็นราชินีพม่าองค์เดียวที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาราณี และยังทรงมีพระสนมมากถึง 30 พระองค์ ซึ่งแต่ละพระองค์ล้วนเป็นเจ้านายจากหัวเมืองต่างๆ ทั้งสิ้น

  1. พระอัครมเหสีตำหนักใต้ ตำแหน่ง มีพะยากองจี พระอัครมเหสีอดุลศรีมหาราชเทวีเจ้า พระนามเดิมคือ ตะเคงจี (พระพี่นางในพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้) เมื่อถึงสมัยของพระเจ้านันทบุเรง จึงขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นพระพันปีหลวง หรือ ที่ทางพม่าเรียกว่า พระมารดาอินแซะกู
  2. พระมเหสีตำหนักเหนือ ตำแหน่ง อมะเย้านาน พระมเหสีจันทราเทวี (ธิดากรุงอังวะ)
  3. พระมเหสีตำหนักกลาง ตำแหน่ง อะเลนานดอ พระมเหสีราชเทวี พระนามเดิมสิ่นทวยละ หรือ เชงทะเวง (ธิดาเมืองแปร)
  4. พระมเหสีเล็ก ตำแหน่ง มีพะยาเง พระสุพรรณกัลยา (ธิดาของพระวิสุทธิ์กษัตริย์และพระมหาธรรมราชา; ทรงเป็นพระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช)

สำหรับตำแหน่งพระมเสีตำหนักตะวันตก คือ อเน้านาน ในสมัยของพระเจ้าบุเรงนองไม่มีการแต่งตั้ง

พระโอรสและพระธิดา

พระเจ้าบุเรงนองทรงมีราชโอรสทั้งสิ้น 33 พระองค์ มีพระราชธิดามากถึง 35 พระองค์ รวมทั้งสิ้น 68 พระองค์ แต่เท่าที่สามารถสืบเสาะพระนามได้มีดังนี้

  1. เจ้าชายงาสูคายะกา หรือที่แปลว่า เจ้าวังหน้า (พระเจ้านันทบุเรง) พระโอรสองค์โตของพระนางตะเกงจี
  2. พระนางเมงกอสอ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ของพระนางตะเกงจี ต่อมาได้ถูกส่งไปอภิเษกกับพระเจ้าตองอู เป็นพระมารดาของนัดจินหน่อง หรือ พระสังขทัต เจ้าชายสุวรรณฉัตร พระโอรสของพระนางจันทราเทวี
  3. เจ้าชายมังนรธาสอ พระโอรสของพระมเหสีราชเทวี พระมเหสีตำหนักกลาง
  4. เจ้าหญิงเมงอทเว พระราชธิดาที่เกิดจากพระสุพรรณกัลยา

ใส่ความเห็น